ความสำคัญและพันธกิจ

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถือเป็นหัวใจหลักในการเสริมสร้างให้องค์กรมีระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และเป็นพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นมาตรฐานวัดความเชื่อมั่นให้เกิดกับผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงมุ่งเน้นพัฒนาและปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรได้ตระหนักถึงและสามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นบรรทัดฐานได้อย่างถูกต้อง

คณะกรรมการบริษัทจึงได้จัดทำ “นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี” เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยมีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายดังกล่าวเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันพร้อมทั้งดูแลกำกับให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ โดยสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ข้อบังคับบริษัทฯ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

นักลงทุน/ผู้ถือหุ้น 
ผู้บริโภค
พนักงาน
สังคมและชุมชน
คู่ค้า/เจ้าหนี้
สถาบัน/หน่วยงานภาครัฐ

เป้าหมายและผลการดำเนินงานที่สำคัญ

เป้าหมาย
ปี 2570 ได้รับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ในระดับ
“ดีเลิศ (Excellent)”
โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
ได้รับการประเมินในระดับ
"ดีเลิศ (Excellent)"
หรือ ระดับ 5 ดาว
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 จากการเปิดเผยรายงานด้านการกำกับดูแลกิจการ โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
ได้รับการประเมินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้อยู่ใน บัญชีรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ประจำปี 2567 ใน
ระดับ "A"
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
ผลการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท การประเมินทั้งคณะ และการประเมินรายบุคคลอยู่ใน
ระดับดีมาก
ร้อยละ 100
ของพนักงานทุกระดับได้รับการอบรมและผ่านการวัดระดับความรู้
ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ ด้านบริหารความเสี่ยง ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
ได้รับรางวัล SET Awards 2024
ซึ่งจัดโดยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร จำนวน 2 รายการ ได้แก่
  • Outstanding CEO Awards 2024
  • Outstanding Company Performance Awards

แนวทางการบริหารจัดการ

  1. กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการในระดับองค์กร ได้แก่ คู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรม และจรรยาบรรณทางธุรกิจ นโยบายบริหารความเสี่ยง นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน นโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน เป็นต้น
  2. แต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความยั่งยืน เพื่อทำหน้าที่ทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และกำกับติดตามให้มีรายงานผลการปฏิบัติงานด้านการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
  3. สร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรในองค์กรทุกระดับ เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณทางธุรกิจ และการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร พร้อมทั้งมีการลงนามรับทราบทุกระดับชั้น
  4. จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนจากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อพบเหตุการณ์การคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเข้าข่ายการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจขององค์กร รวมถึงการเปิดเผยผลการดำเนินการอย่างโปร่งใส
การดำเนินงานและผลการดำเนินงาน

คณะกรรมการบริษัทได้จัดทำ “คู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ” ให้สอดคล้องตามแนวปฏิบัติของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากรอบการดำเนินธุรกิจขององค์กรจะเป็นไปอย่างโปร่งใส น่าเชื่อถือ เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และถูกต้องตามข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังกำกับให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับยึดถือและนำไปปฏิบัติให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั่วทั้งองค์กร โดยให้มีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการทุกฉบับอย่างสม่ำเสมอ พร้อมติดตามผลการนำไปปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินงานธุรกิจขององค์กร

ในปี 2567 คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการทบทวนสาระสำคัญของนโยบายและแนวปฏิบัติ รวมถึงจัดให้มีการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการ ดังนี้

  • ทบทวนคู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรม และจรรยาบรรณทางธุรกิจ และนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ และมาตรฐานของบริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงจากการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่านโยบายฉบับปัจจุบันมีความเหมาะสมกับทิศทางการเติบโตทางธุรกิจและแนวโน้มของบริษัทฯ ในอนาคตแล้ว
  • ทบทวนกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (HRDD) จากการดำเนินกิจกรรมของธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอกอย่างมีนัยสำคัญ
  • ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การอบรมนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฎิบัติที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ การอบรมรมหลักสูตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้ง จัดให้มีเวทีสำหรับพนักงานในการสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ การบริหารความเสี่ยงองค์กร และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (ESG) ตลอดจนมีการทดสอบความรู้ของผู้เข้าร่วมอบรม ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ดำเนินการโครงการความร่วมมือกับแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (CAC) ในการส่งเสริมสนับสนุนและอบรมคู่ค้าของบริษัทฯ ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์เป็นสมาชิก CAC

คณะกรรมการบริษัทมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อย จำนวน 5 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความยั่งยืน และคณะกรรมการบริหาร เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามและกำกับดูแลการบริหารงานของค์กรให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะด้านมาช่วยสนับสนุนการติดตามดูแลและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการชุดย่อยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วย

  • คณะทำงานบริหารความเสี่ยง
  • คณะทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • คณะทำงานส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • คณะทำงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • คณะทำงานระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
  • คณะทำงานจัดการนวัตกรรม
  • คณะทำงานการออกผลิตภัณฑ์ใหม่

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมของโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท พร้อมด้วยบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการ และรายงานของคณะกรรมการชุดย่อยทุกย่อย ได้จากรายงานประจำปี 2567 (แบบ 56-1 One Report) บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่หน้านักลงทุนสัมพันธ์ ภายใต้หัวข้อ “รายงานประจำปี”

ทักษะเฉพาะทางของกรรมการ
องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท
เพศ
ความเป็นอิสระของกรรมการ
การดำรงตำแหน่งกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทได้จัดทำคู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะเติบโตไปพร้อมสังคมที่ดี พร้อมกำกับให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับขององค์กร ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ทั้งการปฏิบัติต่อองค์กร สังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงการกำกับติดตามการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งเปิดเผยผลการนำไปปฏิบัติไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่หน้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดให้มีการอบรมสร้างความตระหนักรู้ให้กับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานใหม่

ร้อยละ 100

ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ได้รับการอบรม

เรื่องหลักการกำกับดูแลกิจการ จริยธรรม และจรรยาบรรณทางธุรกิจ และมีการเปิดเผยนโยบายดังกล่าวไว้บนระบบ Intranet ของบริษัทฯ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรม ด้วยเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมคู่ค้าทางธุรกิจให้เติบโตไปอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินงานธุรกิจขององค์กร ตามหลักการสิทธิมนุษยชน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำนโยบายจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจและผลักดันให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการกำหนดช่องทางเพื่อรายงานเรื่องการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ ประกอบด้วย 4 ช่องทาง ดังนี้

  1. ฝ่ายทรัพยากรบุคคล อีเมล: hrd@ichitangroup.com
  2. สำนักงานเลขานุการบริษัท อีเมล: sec@ichitangroup.com
  3. ฝ่ายตรวจสอบภายใน อีเมล: internalaudit@ichitangroup.com
  4. คณะกรรมการตรวจสอบ อีเมล: auditcommittee@ichitangroup.com

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้ติดตามให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจอย่างเคร่งครัด โดยกำกับให้มีการรายงานเรื่องการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนจรรยาบรรณทางธุรกิจต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2567 บริษัทฯ ไม่พบกรณีการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนได้จัดงานกิจกรรมประจำปีในการส่งเสริมด้านธรรมาภิบาล หรือ CG Day เพื่อปลูกฝังให้พนักงานทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญของการมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

กิจกรรมด้านความยั่งยืน

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินกิจกรรมด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม